สมมติร้านอาหาร Fine dining แห่งหนึ่ง
มีคอร์สอาหารให้ท่านเลือกดังนี้
คอร์ส A: อาหารฝรั่งเศสอย่างดี ราคา 2,000 บาท
คอร์ส B: อาหารฝรั่งเศสอย่างดี ราคา 14,000 บาท
เมนูอาหารเหมือนคอร์ส A เปี๊ยบ
แต่เราจะได้ช่วยชีวิตนกเพนกวินในแอนตาร์กติกา 1 ตัว
ท่านจะเลือกแบบไหน ?
+++
จากบทความตอนที่แล้ว (PASAYA : ตอนที่ 1)
PASAYA แบรนด์เครื่องนอนคุณภาพดีของไทย
เป็นแบรนด์ที่เลือกอาหารคอร์ส B มาโดยตลอด
ยอมแบกรับต้นทุนสูง
มีค่าใช้จ่ายที่แพงกว่ากรรมวิธีการผลิตทั่วไป 7-8 เท่า
แต่ยอม เพื่อทำสิ่งที่ดีกับสิ่งแวดล้อม
+++
ตั้งแต่สร้างโรงงานแห่งใหม่เมื่อปี 1995
PASAYA ก็ตั้งใจทำระบบบำบัดน้ำเสียอย่างดีตั้งแต่แรก
นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 30 ปีก่อน
ในยุคที่ยังไม่ค่อยมีใครตื่นตัวเรื่องโลกร้อน สารพิษปนเปื้อนเท่าไรนัก
ก่อนสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย
มีการใช้พลาสติกปู แล้วค่อยเทคอนกรีตสร้าง
เพื่อไม่ให้สารเคมีซึมผ่านคอนกรีตแล้วเปื้อนดินได้
จนถึงตอนนี้ ก็มีการวัดค่าทุก 6 ชั่วโมง
เพื่อตรวจดูว่ามีสารพิษอะไรเจือปนออกมาหรือเปล่า
ระบบบำบัดน้ำ เป็นระบบที่ใช้การส่งผ่านบ่อแต่ละบ่อ
จากน้ำร้อน ๆ ที่ต้มย้อมผ้า
ก็ค่อย ๆ ทำให้เย็น
น้ำที่บำบัดเสร็จ คุณภาพดี ก็นำกลับมาใช้ต่อในโรงงาน
พี่โต้งเล่าว่า ปรกติ น้ำบาดาลราคาคิวละ 3 บาทกว่าๆ
ส่วนโรงงานของเรา ใช้น้ำบำบัด ต้นทุนคิวละ 20 บาท
ราคาต่างกัน 7 เท่า
“แต่เราก็ยอมจ่าย เพราะสิ่งแวดล้อม”
PASAYA จะไม่ใช้สีหรือสารเคมีบางอย่าง เช่น สีย้อม azodyes
หรือสารพิษฟอร์มาลดีไฮด์ อันเป็นสารก่อมะเร็ง
สารฟอร์มาลดีไฮด์นี่
โรงงานทั่วไปเอามาใช้เพื่อทำให้ผ้าฝ้ายอยู่ตัว
ซักแล้วไม่หดตัวมาก รีดง่าย
วิธีสังเกตง่าย ๆ คือ เวลาเข้าไปในร้านขายผ้า
จะรู้สึกแสบตา แสบจมูก
หากพนักงานหรือลูกค้าสัมผัส สูดเข้าไป
อาจเป็นอันตรายกับผิวหนัง และทำให้เกิดมะเร็งได้
พี่โต้งเล่าว่า ถ้าใส่ฟอร์มาลดีไฮด์ไป
จะลดต้นทุนไปได้ 8 เท่าเลย
แต่ PASAYA ไม่ทำ …
เคยมีลูกค้าจากต่างประเทศอยากได้ผ้าที่สีทนแสงมากๆ
ซึ่งต้องใช้สีที่มีโลหะหนักเป็นส่วนประกอบ
PASAYA จึงเลือกที่จะปฏิเสธดีลนั้นไป
ยอมที่จะอด ดีกว่ามีรายได้ แต่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม
ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ ไม่ได้ถูกผลักมาในราคาสินค้า
ให้ผู้บริโภคแบกรับมากนัก
เพราะหากดูสินค้าของประเทศอื่น ที่คุณภาพเดียวกัน
ใช้ผ้าฝ้ายหรือผ้าไหมทอละเอียด นุ่มอย่างดี
มีสารป้องกันแบคทีเรีย
ราคาก็ยังสูงกว่าของ PASAYA
ดิฉันคิดว่า หากโรงงานต้องส่งผ้าไปยุโรป
ซึ่งเข้มงวดด้านสิ่งแวดล้อมมาก ๆ
PASAYA คงได้เปรียบ
(แม้จะมีต้นทุนสูงกว่าก็ตาม)
แถม PASAYA ยังมี Green Label ด้วย ลูกค้าต่างชาติชอบแน่
แต่ … พี่โต้งบอกว่า ตอนนี้แทบไม่ได้รับทำผ้าส่งต่างประเทศเลย
เมื่อถามข้อดีของการจริงจังกับการดูแลสิ่งแวดล้อมขนาดนี้
พี่โต้งนิ่งสักพัก คล้าย ๆ กับไม่ได้คิดมาก่อน
และตอบไปนึกไปว่า ใครที่มาโรงงานเรา
ใครมาเห็น มารู้ว่าเราทำขนาดนี้ เขาก็ดีใจนะ
(แค่นั้นเหรอคะ…!?)
พี่โต้งไม่ได้พูดถึงผลดีในเชิงธุรกิจเลย …
เช่น บริษัทจะลดต้นทุนได้มากกว่า
สร้างความแตกต่างจากคู่แข่งได้มากกว่า อะไรทำนองนี้
จังหวะนั้น คุณชเลเดินมาเจอพวกเราพอดี
ดิฉันก็ถามอีกรอบว่า ทำไมถึงมุ่งมั่นทำเรื่องสิ่งแวดล้อมขนาดนี้
คุณชเลตอบสั้น ๆ ประโยคเดียว
“มันเป็นสามัญสำนึกของมนุษยชาตินะ”
ในมุมของทั้ง 2 ท่าน การไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม
ก็เป็นสิ่งปรกติที่ควรทำกัน
เหมือนมนุษย์ควรกินอาหาร ควรหายใจเอาอากาศเข้าปอด
ทั้ง 2 ท่านสนับสนุนมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร มานาน
เห็นคนที่เสียสละชีวิต สละความเหนื่อยยากส่วนตน
เพื่อพิทักษ์ผืนป่ามามาก
และตระหนักดีว่า สิ่งแวดล้อมสำคัญกับมนุษย์ขนาดไหน
ภายหลัง คุณชเลและพี่โต้งก่อตั้งมูลนิธิป่าเขตร้อน
เพื่อปกป้องผืนป่า รักษาสิ่งแวดล้อม
โดยเป็นทุนสำหรับผู้ที่ทำงานด้านนี้
เช่น ช่วยเหลือผู้พิทักษ์ป่า และ เป็นทุนวิจัยของนักวิจัยสัตว์ป่า
PASAYA มีพื้นที่โรงงานร่วมร้อยไร่ในจังหวัดราชบุรี
มีการปลูกต้นไม้ในโรงงานมากขึ้นเรื่อย ๆ
และภายหลัง มีการปลูกร่วมกับชุมชนมากขึ้น
ภาพที่ดิฉันนำมาลงนี้ เป็นรังนกกระจาบทองอย่างน้อย 4 รัง
ที่อยู่บนต้นไม้กระถางเล็ก ๆ ใกล้ทางเข้าร้าน Outlet ในโรงงาน
ทั้ง ๆ ที่เป็นจุดที่คนเดินผ่านไปผ่านมา
แต่นกกระจาบก็มาสร้างรังกันอย่างสบายใจ
สิ่งนี้ เหมือนเป็นสัญลักษณ์บอกว่า
โรงงานแห่งนี้ มีต้นไม้อุดมสมบูรณ์ มีน้ำสะอาดปลอดภัย
มีสินค้าดี ๆ ที่ช่วยให้นอนดี ไม่เป็นอันตรายกับสุขภาพ
เป็นพื้นที่แห่งความสบายใจ ทั้งกับพนักงาน ลูกค้า ชุมชน …
ตลอดจนสิ่งมีชีวิตตัวเล็ก ๆ
(ย้อนอ่านกรณีศึกษา PASAYA ตอนที่แล้ว : PASAYA : ตอนที่ 1)