กรณีศึกษา : PASAYA (ตอนที่ 1)

30 ธันวาคม 2566  |  kritinee
353647168_812340170250710_2949167745960160344_n
353647168_812340170250710_2949167745960160344_n
30 ธันวาคม 2566  |  kritinee

สมัยวัยรุ่น ตอนที่อ่านหนังสือสอบเครียด ๆ ถึงดึก
ดิฉันจะชอบไปห้องนอนแม่
เปิดประตูเข้าไป แล้วก็ไถลลื่นกลิ้งตัวไปบนเตียงแม่เพื่อคลายเครียด

ห้องแม่จะเปิดแอร์เย็นฉ่ำ
เตียงก็เย็น …และสไลด์ได้
นั่นเป็นโมเม้นท์ผ่อนคลายเล็ก ๆ ที่ดิฉันได้รับจาก “PASAYA”

PASAYA เป็นแบรนด์ผ้าม่าน ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน เครื่องนอนคุณภาพดีมาก
(ผ้าปูเตียงสไลด์ลื่นอันสร้างความบันเทิงให้ดิฉัน)
นั่นคือภาพประทับใจของดิฉันมาโดยตลอด

เมื่อ 5 เดือนก่อน โบว์ … ลูกศิษย์ป.โทดิฉันต้องทำงานวิจัย
ดิฉันเลยให้โจทย์ว่า ช่วยไปหาบริษัทไทยที่ทำสิ่งดี ๆ ที่น่าสนใจหน่อย
โบว์หายไป 2 อาทิตย์ และกลับมาบอกดิฉันว่า “หนูสนใจ PASAYA” ค่ะ

โบว์ไม่เคยรู้จัก PASAYA มาก่อน แต่ประทับใจในนโยบายสิ่งแวดล้อมของ PASAYA
ส่วนอาจารย์ที่ปรึกษาอย่างดิฉัน รู้จักผ้าปู ปลอกผ้าห่มของแบรนด์นี้เป็นอย่างดี
แต่ไม่เคยรู้เลยว่า PASAYA เป็นบริษัทที่เป็นมิตรกับทุกคนขนาดนี้ …
เรา 2 คนเดินทางไปโรงงาน PASAYA ที่ราชบุรี เพื่อเก็บข้อมูล
+++

คุณชเล วุทธานันท์ เข้ามาสืบทอดโรงงานสิ่งทอของที่บ้าน
ที่พระประแดงเมื่อปี 1986
ตั้งแต่เข้าไปช่วยงานที่บ้าน
คุณชเลก็สร้างความสัมพันธ์กับพนักงานเป็นอย่างดี
กินข้าวกันกับพนักงานในโรงงาน
เข้าไปดูเขาทำงานกันในโรงงานตลอด
คลุกคลีจนคุณชเลเรียกโรงงานตนเองแบบขำ ๆ ว่า “โรงงานนรก”

หน้าร้อน หลังคาโรงงานเป็นสังกะสี
พนักงานต้องนั่งปาดเหงื่อกันทอผ้า
ส่วนหน้าฝน วันไหนฝนตกเยอะ หลังคารั่ว
น้ำก็จะท่วมพื้น พนักงานก็ต้องยืนทำผ้ากันในน้ำแฉะ ๆ แบบนั้น
ชีวิตพนักงานลำบากมาก

9 ปีถัดมา … เมื่อมีโอกาสทำโรงงานใหม่
คุณชเลและภรรยา (พี่โต้ง) จึงตั้งใจทำสิ่งแวดล้อมการทำงานให้ดีที่สุด
เพราะเชื่อว่า “คุณภาพชีวิตของพนักงาน คือ ที่มาของคุณภาพสินค้า”

ที่นี่ มีการสร้างหอพักให้พนักงานอยู่อย่างสบาย
หอพักชื่อ “The Resort”
ปลูกต้นไม้ไว้รอบ ๆ ให้ร่มเย็น
มีม้านั่งสบาย ใต้ถุนกว้าง โล่ง ไม่อุดอู้

โรงงานทำผ้าทั่วไป จะนำการผลิตทุกขั้นตอน ใส่ไว้ในอาคารเดียวกัน
ตั้งแต่ปั่นด้าย ทอผ้า ย้อม ตัดเย็บ
เพื่อจะได้ขนส่งสินค้าระหว่างแผนกกันได้ง่าย

แต่ที่ PASAYA ทำตึกแยกกันหมด
ตึกทอ ตึกย้อม ตึก Finishing
ข้อดีในเชิงธุรกิจ คือ หากเกิดเรื่องไม่คาดคิด เช่น ไฟไหม้
แผนกอื่น ๆ จะได้ปลอดภัย

แต่เหตุผลหลักที่คุณชเลและพี่โต้งตัดสินใจทำอาคารแบบนี้
เพราะอยากให้พนักงานปลอดภัย
ช่วงนั้น มีข่าวใหญ่ คือ โรงงานแห่งหนึ่งโดนไฟไหม้
แล้วพนักงานหนีออกมาไม่ได้ เสียชีวิตกันหลายราย
ข่าวนี้ทำให้คุณชเลเศร้าใจมาก จนบอกตนเองว่า
จะไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ในโรงงานของตน

อีกเหตุผลสำคัญ คือ เมื่ออาคารอยู่แยกกัน
ไม่ได้อยู่ในตึกเดียว สีเทา เป็นกล่อง ทึม ๆ
พนักงานจะได้รู้สึกสบายมากขึ้น ไม่รู้สึกเหมือนอยู่ในโรงงาน

อาคารแต่ละแห่งที่นี่ จะมีชื่อที่เก๋มาก
เช่น ตึก Challenger ตึก Pioneer หรืออาคาร “99.99”

มีตึกหนึ่งที่ดิฉันชอบชื่อมาก คือ “กำแพง”

เพราะตึกนี้ไม่มีกำแพงหนาทึบ เลยชื่อกำแพง
ตั้งชื่อแซวตัวเอง
มีหน้าต่างเจาะเป็นช่อง ๆ ให้ลมระบายถ่ายเทดีทั้งโรงงาน
ด้านนอก มีไม้เลื้อยสีเขียวปกคลุม ช่วยให้เย็นขึ้นอีก

ส่วนโรงเย็บผ้า ที่เป็นอาคารสี่เหลี่ยม
จะมีผนังด้านหนึ่ง ทำเป็นกระจกใส
มองออกไปจะเห็นสวนต้นไม้ที่ปลูกไว้ตรงกลาง
เวลาช่างเย็บผ้าเหนื่อย ๆ เงยหน้าขึ้นมา
จะได้เห็นสีเขียว ได้ชื่นตาชื่นใจบ้าง

“คุณภาพชีวิตของพนักงาน คือ ที่มาของคุณภาพสินค้า”
เมื่อพนักงานมีความสุข รู้สึกสบายใจในการทำงาน
ทุกคนก็จะตั้งใจ และใส่ใจในการทำสินค้าดี ๆ เพื่อลูกค้ามากขึ้น

และเพราะคุณชเลกับพี่โต้งได้เห็นอย่างแจ่มแจ้งว่า
ชีวิตพนักงานที่ทำงานในโรงงานเดิม เหนื่อยยาก ลำบากขนาดไหน
ทั้ง 2 ท่านจึงต้องการดูแลให้พนักงานมีความสุข มีชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
ด้วยความเมตตาและความห่วงใย

ตอนถัดไป จะขอเล่าถึงสิ่งที่ PASAYA มุ่งมั่นทำ
และทำแบบเงียบ ๆ มาตลอดเกือบ 30 ปีนะคะ 🙂

(Click อ่านตอนถัดไป : กรณีศึกษา PASAYA (2))

ส่งต่อให้คนรอบตัว
เกี่ยวกับเรา
พื้นที่แลกเปลี่ยน & เรียนรู้เรื่องธุรกิจและการตลาดดีดี
ติดต่อเรา
Facebook
Twitter
Instagram
Clubhouse